เกมในชิงร้อยชิงล้าน Top Secret ของ ชิงร้อยชิงล้าน_ท็อป_ซีเคร็ต

ในชิงร้อยชิงล้าน Top Secret นั้นได้ปรับเปลี่ยนเกมรูปแบบใหม่ ที่แตกต่างไปจากชิงร้อยชิงล้านเดิมจนหมดสิ้น และเหลือเพียง 2 เกมหลักเท่านั้น (แต่เหลือเพียงเกมเดียวในปี 2537 เป็นต้นมา) ทั้งนี้ เกมในชิงร้อยชิงล้าน Top Secret อาจแบ่งแยกได้เป็น 2 ยุค คือก่อนปี 2537 และหลังปี 2537 ซึ่งทั้งสองยุคมีกติกาที่แตกต่างกันไป ดังที่จะมีการกล่าวไว้ในเกมแต่ละเกมด้วย อย่างไรก็ดี ชิงร้อยชิงล้าน Top Secret เป็นยุคที่ไม่มีแจ็กพอตแตกเลย

จริงหรือไม่

เกมจริงหรือไม่ เป็นเกมที่เริ่มต้นขึ้นในยุคนี้ และจะอยู่คู่ชิงร้อยชิงล้านไปอีก 8 ปี (ถึงชิงร้อยชิงล้าน Cha Cha Cha) ซึ่งเกมนี้ เป็นการนำเอาประสบการณ์ชีวิตในแง่มุมต่างๆของดาราที่เป็นผู้เข้าแข่งขันในเกม ไม่ว่าจะเป็น ความชอบ งานอดิเรก ของสะสมส่วนตัว หรือแม้กระทั่งประสบการณ์ลี้ลับ และเฉียดความตาย โดยเรื่องราวเหล่านี้ จะถูกนำมาใช้เป็นเกมการแข่งขันในรูปแบบตอบคำถาม โดยในการแข่งขัน ทีมที่จะเป็นผู้ตอบคำถาม คือทีมฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ใช่เจ้าของเรื่อง ซึ่งทีมที่ตอบจะต้องทายว่าคำถามในข้อนั้นเป็นเรื่องจริง หรือไม่จริง หลังจากที่ตอบแล้ว ทีมเจ้าของเรื่องนั้นจะเป็นผู้เฉลยว่าคำถามนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ถ้าทีมฝ่ายตรงข้ามตอบถูกก็จะได้คะแนนไป แต่ถ้าตอบผิด ทีมเจ้าของเรื่องจะได้คะแนน

ทั้งนี้ เกมจริงหรือไม่ จะมีคำถามทั้งหมด 4 ข้อ ซึ่งแต่ละทีมจะมีโอกาสตอบคำถามทั้งหมด 2 ข้อด้วยกัน และเป็นการสลับกับตอบคำถามไประหว่างสองทีม โดยในแต่ละข้อ หลังจากที่มีการเฉลยคำตอบแล้ว ก็จะมีการพูดคุยกับดาราเจ้าของเรื่องเกี่ยวกับเรื่องที่ตั้งเป็นคำถามนั้นๆ บางครั้งอาจมีการสาธิตโชว์เรื่องนั้นให้ดูในรายการ หากเป็นเรื่องความสามารถ หรือมีการนำของสะสมต่างๆ มากมายที่เป็นของดารามาแสดงในรายการ ในกรณีที่คำถามเกี่ยวข้องกับของสะสมของดารา ทั้งนี้ การพูดคุยกับดารา ยังมีคุณหม่ำ จ๊กมก มาสร้างสีสันเสียงหัวเราะให้ท่านผู้ชมได้รับความสนุกสนานกันอีกด้วย

ทว่าในปี 2537 เกมจริงหรือไม่ ถูกปรับเปลี่ยนกติกาเล็กน้อย โดยการเพิ่มคำถามจาก 4 ข้อ เป็น 6 ข้อ ซึ่งในการตอบคำถามนั้น จะให้ทีมเจ้าของเรื่องเลือกสมาชิกคนใดคนหนึ่งของทีมตรงข้ามมาเป็นผู้ตอบ แต่การได้คะแนนจะยังคงรูปแบบเดิมไว้ นอกจากนี้ ในคำถามทั้ง 6 ข้อ ข้อที่ 1-4 จะมีคะแนนข้อละ 1 คะแนน ส่วน 2 ข้อสุดท้ายจะมีคะแนนข้อละ 2 คะแนน และทีมใดก็ตามที่สามารถสะสมคะแนนจนครบ 8 คะแนน จะได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท จากผู้สนับสนุนรายการด้วย

รอบตัดสิน

ในรอบนี้เป็นการตัดสินว่าผู้เข้าแข่งขันทีมใดจะได้เข้าสู่รอบ Jackpot ชิงเงินล้าน ซึ่งในช่วงแรก (ก่อนปี 2537) เกมในรอบนี้จะคล้ายกับเกมชิงล้านของชิงร้อยชิงล้านยุคแรก เสมือนการนำเอาเกม แจ็กพอต เดิมโยกย้ายมาไว้เป็นเกมรอบตัดสินนี้ โดยจะมีคำถามทั้งหมด 5 ข้อ ซึ่งในแต่ละทีม ผู้เข้าแข่งขันคนหนึ่งจะอยู่ในห้องที่กั้นเสียงทั้งหมด ส่วนอีกคนหนึ่งจะบอกคำเฉลย โดยผู้ที่อยู่ในห้องต้องตอบคำตอบทั้ง 5 ข้อ ซึ่งคำถามจะมีลักษณะเช่น เพื่อนร่วมทีมของตนชอบอะไรบ้าง, เพื่อนร่วมทีมของตนไม่ชอบสัตว์อะไร, เพื่อนร่วมทีมของตนชื่นชอบหนังของเพื่อนร่วมทีมที่อยู่ในห้องกั้นเสียง เป็นต้น ถ้าใครตอบคำถามได้มากที่สุด ผู้เข้าแข่งขันทีมนั้นจะเข้าได้สู่รอบ Jackpot ชิงเงินล้านทันที

ทว่าตั้งแต่ช่วงปี 2537 เป็นต้นมา เกมรอบตัดสินได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นการเปิดป้ายคะแนนแทน ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับเกมชิงบ๊วยในยุคชิงร้อยชิงล้านยุคแรก แต่จะใช้รูปแบบของการเปิดแผ่นป้ายขนาดเล็กแทนการเปิดลูกคะแนนที่เป็นลูกเหล็กทรงกลม โดยจะมีแผ่นป้ายของผู้สนับสนุนรายการทั้งหมด 12 แผ่นป้าย ซึ่งจะมี 9 แผ่นป้าย มีคะแนน 1-9 และอีก 3 แผ่นป้าย จะเป็นรูปใบหน้าของคุณปัญญาและ คุณมยุราซึ่งเป็นพิธีกร และคุณหม่ำ ซึ่งเป็นตลกประจำรายการ ทั้งนี้ ถ้าเปิดเจอป้ายปัญญาหรือป้ายมยุรา จะได้คะแนน 10 คะแนน (แต่ในกรณีที่เปิดแผ่นป้ายเดียว ป้ายมยุราจะสามารถชนะป้ายปัญญา รวมทั้งคะแนนของป้ายอื่นๆ ด้วย) แต่ถ้าเจอป้ายหม่ำจะตกรอบทันที (ป้ายหม่ำนั้น ในกรณีที่ทีมผู้เข้าแข่งขันสามารถเลือกเปิดได้ 2 แผ่นป้าย ถึงจะสามารถเปิดเจอป้ายใดๆก็ตาม แม้กระทั่งมยุรา แต่ถ้าอีกแผ่นป้ายหนึ่งเปิดเจอหม่ำ จะถือว่าตกรอบทันทีเช่นเดียวกัน) ในเกมเปิดแผ่นป้ายคะแนนนี้ จะมีการดูคะแนนจากรอบเกมจริงหรือไม่ด้วย ทีมที่มีคะแนนสะสมจากเกมจริงหรือไม่มากที่สุด จะได้เลือก 2 แผ่นป้าย ส่วนอีกทีมหนึ่งจะได้เลือกเปิด 1 แผ่นป้าย (แต่ถ้ามีคะแนนเสมอกัน ทั้งสองฝ่ายจะได้เลือกเปิดคนละ 1 แผ่นป้ายเท่านั้น)

สำหรับในรอบนี้ ทีมที่เปิดป้ายได้คะแนนรวมมากที่สุดจะเข้ารอบทันที แต่ถ้ามีคะแนนเท่ากัน ทีมที่เปิดได้ 2 แผ่นป้าย จะเข้ารอบทันที อย่างไรก็ดี ในเกมนี้ ในทีมที่สามารถเปิดได้ 2 แผ่นป้าย หากสามารถเปิดแผ่นป้ายได้เป็นรูปปัญญา และมยุรา ทั้งคู่ ทีมนั้นจะได้รับรางวัลพิเศษ เป็นเงินรางวัล 100,000 บาท ทว่าในทางปฏิบัตินั้น การจะได้สิทธิลุ้นเงินรางวัล 100,000 บาทนั้น จะต้องเป็นไปตามหลักที่ว่าต้องมีทีมที่มีคะแนนสะสมมากที่สุดจะได้เปิด 2 แผ่นป้าย

อนึ่ง เกมเปิดป้ายคะแนนนี้ ได้ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปี 2552 (ชิงร้อยชิงล้าน Cha Cha Cha) โดยรูปแบบของเกมนี้ ไม่เคยถูกเปลี่ยนแปลงเลยตลอดระยะเวลาที่ใช้มา นอกจากเปลี่ยนแปลงรายละเอียดบางประการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น เปลี่ยนเป็นแผ่นป้ายสี่เหลี่ยม , ไม่มีการแจกเงินรางวัลพิเศษ 100,000 บาทให้กับผู้ที่เปิดได้ป้ายปัญญา และมยุรา ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้น ในปี 2539 ป้ายหม่ำถูกเปลี่ยนเป็นป้าย 0 คะแนน โดยไม่มีผลให้ต้องตกรอบ ซึ่งต่อมาได้กลับมาเป็นป้ายหม่ำที่มีผลให้ต้องตกรอบทันทีอีกครั้ง และในขณะเดียวกัน ปี 2537 นับเป็นปีที่มีการยุติการเล่นเกมทายใจ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชิงร้อยชิงล้านในยุคแรกอย่างถาวร หลังจากที่มีการใช้เกมทายใจเป็นเกมในรอบสุดท้าย และเกมในรอบตัดสินมาตลอด 3 ปี (2533 - 2536)

ประตูหม่ำ ประตูหมื่น

สำหรับเกม ประตูหม่ำ ประตูหมื่น นี้ เป็นเกมสำหรับผู้เข้าแข่งขันที่ตกรอบเท่านั้น โดยก่อนปี 2537 นั้นจะให้ดาราคนใดคนหนึ่งเข้าไปอยู่ในประตูทึบ แล้วให้ดาราที่อยู่ด้านนอกนั้น เลือกประตูว่าเพื่อนร่วมทีมของตนที่อยู่ในประตูนั้นอยู่ประตูที่ 1 หรือ ประตูที่ 2 ซึ่งจะมีอยู่ 2 ประตู และทั้ง 2 ประตูนี้จะมีดารา และหม่ำ จ๊กมก อยู่ด้วย ถ้าดาราเปิดประตูเจอดาราด้วยกัน จะได้เงินรางวัล 20,000 บาท แต่ถ้าดาราเปิดประตูเจอหม่ำ จ๊กมก จะได้เงินรางวัล 10,000 บาท

แต่ในช่วงปี 2537 ซึ่งชิงร้อยชิงล้าน Top Secret ได้เปลี่ยนรูปแบบให้ทีมผู้เข้าแข่งขันมีทีมละ 3 คนนั้น ประตูหม่ำ ประตูหมื่น จะให้ดารา 1 ใน 3 คนไปอยู่ในประตู แล้วให้ดารา 2 คน ที่อยู่ด้านนอกเป็นผู้ทายว่าเพื่อนร่วมทีมของตน อยู่ในประตูใด เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ ทว่าถ้าดาราเปิดประตูเจอดาราด้วยกันจะได้เงินรางวัล 10,000 บาท (จากเดิม 20,000 บาท) และถ้าดาราเปิดประตูเจอหม่ำ จ๊กมก จะไม่ได้เงินรางวัลอะไรเลย

รอบ Jackpot

รอบสุดท้าย (Jackpot) ของชิงร้อยชิงล้าน Top Secret นั้นยังคงใช้กติกาเดียวกันกับ ชิงร้อยชิงล้าน(ยุคแรก)(ช่วงปี2536) แต่มีการปรับการให้เงินรางวัลเล็กน้อย โดยมีแผ่นป้ายของผู้สนับสนุนรายการทั้ง 12 แผ่นป้าย แบ่งเป็นแผ่นป้ายเลข 0 ซึ่งจะมี 6 แผ่นป้าย โดยมีเงินรางวัล 10,000 บาท และแผ่นป้ายรูปหม่ำ จ๊กมกทับเลข 0 ซึ่งจะมี 6 แผ่นป้าย เป็นแผ่นป้ายเปล่าไม่มีเงินรางวัลแต่อย่างใด ภายหลังช่วงปี2537 ได้เปลี่ยนผู้สนับสนุนรอบชิงล้านใหม่เป็น เครื่องใช้ไฟฟ้า เนชั่นแนล โดยในแต่ละป้ายจะมีเครื่องหมายสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ต่างๆของเนชั่นแนลติดอยู่ หากเปิดเจอป้ายหม่ำจะได้รับผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นไป ซึ่งถ้าเปิดแผ่นป้ายเลข 0 ครบทั้ง 6 แผ่นป้าย จะได้รับเงินรางวัล 2,000,000 บาท โดยจะแบ่งให้คนละ 1,000,000 บาทให้กับผู้เข้าแข่งขัน และผู้โชคดีที่มาจากการจับรางวัลซึ่งเป็นฉลากชิ้นส่วนของผู้สนับสนุนรายการที่ผู้ชมทางบ้านส่งมาร่วมสนุกนั่นเอง(ผู้สนับสนุนในการชิงโชคคือฟิล์มสีโกดักและเครื่องใช้ไฟฟ้า เนชั่นแนล) แต่ถ้าเปิดป้ายรูปหม่ำครบ 6 แผ่นป้าย จะได้รับเงินรางวัลพิเศษ 100,000 บาท ในช่วงปี 2536 เจอหม่ำครบ 6 ป้าย จะไม่ได้รับเงินรางวัลอะไรเลย แต่บางครั้งพิธีกรจะให้แถมเลือกแผ่นป้ายเพิ่ม เพื่อสะสมเงินรางวัล ในกรณีที่เปิดได้ป้ายหม่ำมากกว่า 3 ป้ายขึ้นไป โดยคู่แรกที่ได้สิทธิ์แถมเปิดแผ่นป้ายเพิ่มก็คือ คู่ของคุณโน้ต เชิญยิ้มและเป็ด เชิญยิ้มอย่างไรก็ดี ในยุคนี้ถือเป็นยุคแรกที่ไม่มี Jackpot แตกเลย (ยุคที่ 2 ที่ไม่มี Jackpot แตกคือยุคทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ตั๊ก)

เกมเปิดแผ่นป้ายชิงเงินล้านนี้ ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปี 2555 (ชิงร้อยชิงล้าน ซันไชน์ เดย์) โดยแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบกติกาของเกมเลย แต่มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น เปลี่ยนจากรูปหม่ำ จ๊กมกเป็นผู้สนับสนุนหลักที่มีทั้งป้ายเปล่าและมีเลข 20,000 กำกับในยุค Super Game ใช้ตั้งแต่ปี 2539-2549 ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอีกครั้งในยุค ชิงร้อยชิงล้าน Cha Cha Cha ในช่วงกลางปี 2549 โดยให้การเปิดป้าย 0 หรือป้ายที่ใกล้เคียง (แบคทีเรีย 3 หัว ,สมาชิกแก๊ง 3 ช่า ในยุคปี 2552-2555) ไม่มีเงินรางวัล ลดเงินรางวัลป้ายผู้สนับสนุนหลักเหลือ 10,000 บาทเป็นต้น และถูกยกเลิกในช่วงต้นปี 2555 โดยใช้การสุ่มหยิบลูกบอลแทน